วันอังคารที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2556

การจำนำ คือ อะไร


การจำนำ



การจำนำ คือ การที่บุคคลคนหนึ่งเรียกว่า “ผู้จำนำ” นำสังหาริมทรัพย์ไปส่งมอบให้อยู่ในความครอบครองของบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า “ผู้รับจำนำ” เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่ผู้จำนำเป็นหนี้ผู้รับจำนำ (ป.พ.พ. มาตรา 747)
ตัวอย่าง นาย ก. ได้กู้เงินนาย ข. เป็นเงิน 3,000 บาท โดยนาย ก. มอบสร้อยคอทองคำให้นาย ข. ยึดถือไว้ เพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้เงินกู้ 3,000 บาทของนาย ก. สัญญาเช่นนี้ เรียกว่า สัญญาจำนำ


ทรัพย์สินที่จะใช้การจำนำได้

ทรัพย์สินที่จะใช้จำนำได้แก่ “สังหาริมทรัพย์” ทุกชนิด
“สังหาริมทรัพย์” ได้แก่ ทรัพย์สินทั้งหลายซึ่งอาจเคลื่อนจากที่หนึ่งไปแห่งอื่นได้เช่น รถยนต์, นาฬิกา , แหวน , สร้อย ฯลฯ

สิทธิของผู้รับจำนำ
ผู้รับจำนำมีสิทธิยึดของที่จำนำไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้คืนแล้วจนครบถ้วน (ป.พ.พ. มาตรา 758)
สิทธิการจำนำมีขอบเขตเพียงใด
การจำนำย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้ดังต่อไปนี้คือ
1. ต้นเงิน
2. ดอกเบี้ย
3. ค่าเสียหายในการไม่ชำระหนี้
4. ค่าธรรมเนียมในการบังคับจำนำ
5. ค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาทรัพย์สินที่จำนำ
6. ค่าทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากความชำรุดบกพร่องของทรัพย์ที่จำนำ ซึ่งผู้รับจำนำมองไม่เห็นในวันรับจำนำนั้น

เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว หากลูกหนี้ (ผู้จำนำ) ผิดนัดไม่ยอมชำระหนี้ ผู้รับจำนำต้องบังคับจำนำทรัพย์ที่จำนำนั้น ผู้รับจำนองจะยึดถือเอาทรัพย์จำนำหลุดเป็นของตนเองโดยไม่มีการบังคับจำนำไม่ได้

การบังคับจำนำ

มีวิธีการดังต่อไปนี้คือ
1. ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ลูกหนี้จัดการชำระหนี้รวมทั้งดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังได้กล่าวมาแล้วภายในเวลาอันสมควรซึ่งได้กำหนดไว้ในหนังสือบอกกล่าวดังกล่าว
2. ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนำมีสิทธินำเอาทรัพย์สินที่จำนำออกขายทอดตลาดได้
3. ผู้รับจำนำต้องมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้จำนำทราบถึงวันที่จะขายทอดตลาดและสถานที่ที่จะทอดตลาด

ข้อยกเว้น
แต่ถ้าลูกหนี้ค้างชำระเกินกว่าเวลาที่กำหนด 1 เดือน และไม่สามารถจะบอกกล่าว ก่อนได้ผู้รับจำนำไม่ต้องบอกกล่าวให้ลูกหนี้ทราบก่อนแต่อย่างใด ผู้รับจำนำมีอำนาจนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดได้ทันที (ป.พ.พ. มาตรา 765)

ตัวอย่าง นาย ก. ได้กู้เงิน นาย ข. 1 หมื่นบาท กำหนดชำระคืนภายใน 3 เดือน โดยนำแหวนเพชรไปจำนำไว้กับนาย ข. ครั้นเวลาล่วงมาเป็นเวลา 4 เดือนแล้ว นาย ก. ก็ยังไม่นำเงินไปชำระคืนและไม่ทราบว่านาย ก. ได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่ใด นาย ข. มีสิทธินำแหวนเพชรดังกล่าวออกขายทอดตลาดได้เลยโดยไม่ต้องบอกกล่าวให้นาย ก. ทราบก่อนแต่อย่างใด

ข้อตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่าถ้าลูกหนี้ผิดนัดแล้วให้ทรัพย์ดังกล่าวตกเป็นของผู้รับจำนำโดยไม่ต้องมีการบังคับจำนำ นั้น ข้อตกลงเช่นนี้ย่อมไม่สมบูรณ์ไม่มีผลบังคับได้ กล่าวคือกฎหมายบังคับให้ต้องมีการบังคับจำนำด้วยวิธีการที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น ผู้รับจำนำจะใช้สิทธิยึดเอาทรัพย์ที่จำนำหลุดเป็นของตนเองไม่ได้

ตัวอย่าง นาย ก. ไปกู้เงินจาก นาย ข. เป็นเงิน 1 หมื่นบาท โดยนำแหวนเพชรประจำตระกูลไปจำนำไว้กับนาย ข. กำหนดชำระหนี้คืนภายใน 3 เดือน โดยมีข้อตกลงว่าหากถึงกำหนดแล้ว นาย ก. ยังไม่ชำระหนี้ให้แหวนนั้นตกเป็นกรรมสิทธิของนาย ข. ทันที ครบกำหนด 3 เดือนแล้ว นาย ก.ผิดนัดไม่นำเงินมาชำระต่อมาอีก 3 วันหลังครบกำหนดแล้ว นาย ก. หาเงินมาใช้หนี้ให้แก่นาย ข. และขอไถ่แหวนคืน แต่นาย ข. ไม่ยอมให้อ้างว่าครบกำหนดแล้ว นาย ก. ไม่นำเงินมาชำระแหวนดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิของตนแล้วตามข้อตกลง จะได้หรือไม่

กฎหมายได้กำหนดไว้แล้วว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่สมบูรณ์ไม่มีผลบังคับ ดังนั้น แหวนดังกล่าวจึงยังเป็นกรรมสิทธิของนาย ก. อยู่หาได้ตกเป็นกรรมสิทธิของนาย ข. ตามที่กล่าวอ้างไม่ นาย ข. จะต้องรับชำระหนี้และคืนแหวนให้แก่ นาย ก. ไป
เมื่อขายทอดตลาดได้เงินมาแล้วต้องดำเนินการอย่างไร

เมื่อขายทอดตลาดได้เงินสุทธิเท่าใด ผู้รับจำนำมีสิทธิหักเงินดังกล่าวเพื่อชำระหนี้คืนแก่ตนได้จนครบถ้วน หากมีเหลือเท่าใด ผู้รับจำนำต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนำไป

แต่ถ้าเงินที่ขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้คืนแล้ว เงินยังขาดอยู่เท่าใดผู้จำนำต้องใช้คืนให้แก่ผู้รับจำนำครบถ้วน
(ป.พ.พ. มาตรา 767)

ตัวอย่าง นาย ก. นำแหวนเพชรไปจำนำไว้กับนาย ข. เป็นเงิน 1 หมื่นบาท แล้วนาย ก. ผิดนัดไม่ชำระหนี้ นาย ข. จึงบังคับนำแหวนเพชรออกขายทอดตลาดได้เงินเพียง 5,000 บาท นาย ก. ยังต้องรับผิดชอบชดใช้เงินที่ยังขาดอยู่อีก 5,000 บาท ให้แก่นาย ข. จนครบถ้วน
ถ้าในระหว่างจำนำผู้รับจำนำส่งมอบทรัพย์ที่จำนำคืนให้แก่ผู้จำนำแล้วจะมีผลอย่างไร

ถ้าในระหว่างจำนำผู้รับจำนำส่งมอบทรัพย์สินที่จำนำคืนให้แก่ผู้จำนำแล้ว กฎหมายให้ถือว่าการจำนำนั้นระงับไป ผู้รับจำนำจะใช้สิทธิในการบังคับจำนำเอาทรัพย์นั้นอีกไม่ได้ คงทำได้แต่เพียงฟ้องร้องบังคับตามหนี้ที่ลูกหนี้เป็นหนี้ค้างชำระแก่ตนได้เท่านั้น

เตรียมเอกสารครบส่งมาที่ e-mail : chalamnoi@gmail.com



สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 0813734332
Line chalamnoi28 www.pawn.in.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น